Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

คืนสุขภาพดีให้ข้อเข่า ด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic assisted total knee replacement)

28 มี.ค. 2567


   ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความผิดปกติของข้อเข่าที่กระดูกอ่อนผิวข้อสึกหรอไปจากการเสียดสีหรือถูกกระแทก ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ ข้อเข่าโก่งผิดรูป ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เวลาลุกขึ้น นั่งลง หรือเดิน เป็นผลให้เกิดความเจ็บปวดของขาและเข่า โดยมีสาเหตุ ดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น
  • การใช้งานที่มากเกินไปหรือผิดลักษณะ
  • น้ำหนักตัวมาก (ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) โรคบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า
  • การบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อน
  • ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้ขาโก่งงอ
   ปัญหา “ข้อเข่าเสื่อม” เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ส่งผลให้คนไข้ต้องทุกข์เพราะความเจ็บปวดวิธีที่สามารถช่วยลดความอาการปวดข้อเข่ารุนแรง ให้สามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้เป็นปกติ คือการรักษาด้วยการ “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม”
 

   การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic assisted total knee replacement) เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน  นอกจากช่วยลดโอกาสข้อหลวมหรือข้อทรุดหลังผ่าตัดได้แล้ว ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง อีกทั้งช่วยให้แพทย์ทำการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าคืออะไร?

  เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยแพทย์ในการผ่าตัด ซึ่งศัลยแพทย์เป็นผู้ควบคุมการใช้ด้วยการวาดตำแหน่งกระดูกที่สำคัญบริเวณข้อเข่า ขอบเขตของส่วนปลายของกระดูกต้นขาและส่วนยอดของกระดูกขาที่เป็นส่วนข้อต่อ จากนั้นส่งข้อมูลดังกล่าวเพื่อไปแปลผลอย่างแม่นยำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึงทำให้การผ่าตัดที่มีความซับซ้อนหรือต้องทำในตำแหน่งที่เข้าถึงยากมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง
    ให้ผลลัพธ์คือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง เพราะมีแผลขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคตได้ เช่น ลดโอกาสข้อหลวมหรือข้อทรุดหลังผ่าตัด ที่อาจส่งผลให้ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไข

 

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังจากโรคข้อเข่าเสื่อม หรือจากความผิดปกติต่างๆ ได้แก่ ข้อเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น การใช้งาน อุบัติเหตุ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ผู้ป่วยที่เคยทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าด้วยวิธีเดิมไปแล้ว แต่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ทำให้มีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เข่างอ เข่ายึดติด เหยียดไม่สุด งอไม่เข้า เข่าหลวม เข่าหลุด ใช้งานเข่าเทียมได้ไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ไม่สามารถนั่งกับพื้น นั่งคุกเข่า พับเพียบ
  • ผู้ป่วยที่เดินไม่ค่อยได้ มีอาการปวดมาก การเคลื่อนไหวของเข่าจะไม่ค่อยดี ผู้ป่วยจะลุกขึ้นยืนและงอเข่าลำบากมากขึ้น สุดท้ายเดินไปได้ไม่ไกล เพราะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวมหรือเบี้ยวผิดรูป
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่าเวลานอน หรือช่วงกลางคืน

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Knee Replacement)

   การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดในส่วนของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่ได้แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดแบบเทคนิคปกติ โดยผู้ป่วยได้รับการตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย มีรายละเอียดดังนี้

  • เตรียมความพร้อมของผู้ป่วยด้วยการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันเราก็พบว่าอายุอาจจะไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักที่เราจะตัดสินใจเลือกผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดในกลุ่มของการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แต่มักประเมินด้วยการดูหน้าที่การทำงานของหัวใจจากการทำอัลตร้าซาวด์ของหัวใจเป็นหลักว่าผู้ป่วยมีฟังก์ชันการทำงานของหัวใจที่ดีหรือไม่ สามารถที่จะเข้ารับการผ่าตัดได้หรือไม่
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด จำเป็นต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือด รวมถึงถ้ามียาหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการรักษา
  • การทำกายภาพฝึกบริหารกล้ามเนื้อ เตรียมกล้ามเนื้อขารอบเข่าให้แข็งแรงก่อนการเข้ารับการผ่าตัด
  • มีการส่งแผนภาพรังสีแบบยาวจากข้อสะโพก ข้อเข่า จนถึงข้อเท้า เพื่อประเมินความสึก ความโก่ง และการผิดรูปของข้อเข่า
  • การคุมน้ำหนัก เพื่อที่จะช่วยให้ผู้สามารถฟื้นตัวได้ไวหลังจากการเข้ารับการผ่าตัด

 

ขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

   การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยปกติทั่วไปแล้วก็จะผ่าตัดในลักษณะที่เป็นการใช้เครื่องมือผ่าตัด และผ่าตัดโดยใช้แพทย์ปกติหรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบวิธีเทคนิคปกติ แต่ปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ที่จะใช้ในการช่วยผ่าตัดโดยที่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยสร้างภาพของข้อเข่า ทำให้ได้ภาพ 3 มิติผ่านทางจอมอนิเตอร์ ซึ่งต่างจากเดิมที่เป็นการวางแผนผ่าตัดจากภาพ X-Ray ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างเหมาะสมตามลักษณะกายวิภาคของผู้ป่วยรายนั้นๆ
   การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยปกติทั่วไปแล้วมีการผ่าตัดในลักษณะที่เป็นการใช้เครื่องมือผ่าตัดตำแหน่งและองศาต่างๆ ของข้อเข่าแบบ Real-time และแม่นยำ โดยทางแพทย์ผู้ผ่าตัดยังคงมีหน้าที่ในการทำการผ่าตัดผู้ป่วย เพราะฉะนั้นความละเอียดในการผ่าตัดจะค่อนข้างที่จะสูงกว่าการใช้ตามอง เมื่อมีความแม่นยำสูง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นด้วยจึงส่งผลให้ศัลยแพทย์ตัดเฉพาะส่วนผิวข้อที่เสื่อมออก และสามารถนำข้อเข่าเทียมเข้าไปวางแทนที่ในตำแหน่งเดิมได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำของการวางแนว (alignment) ตำแหน่งของข้อเทียม (prosthesis position) และยังช่วยในการปรับสมดุลของข้อ (gap balancing) เพื่อสร้างความมั่นคงให้ข้อเข่า ผู้ป่วยจึงสามารถงอเข่าได้ใกล้เคียงกับการงอเข่าของคนปกติ และสามารถ ลุก นั่ง เดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัดเสร็จ การปวดในการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ก็จะน้อยกว่าผู้ป่วยที่เราผ่าตัดโดยเทคนิคปกติ แต่ระยะเวลาในการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะมีช่วงระยะเวลาในการผ่าตัดสูงขึ้นไม่เกิน 20 นาที

 

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

  • ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด และในทางการแพทย์สามารถลดความผิดพลาดขณะผ่าตัด (Human error)
  • ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดที่เกิดกับผู้ป่วย
  • ปลอดภัย เนื่องจากศัลยแพทย์มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน จึงช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นโดยรอบได้
  • ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพียง 1 วัน หลังผ่าตัด ก็สามารถยืนหรือเดินได้
  • ช่วยปรับสมดุลของข้อเทียม ให้ความมั่นคงเฉพาะคนได้แม่นยำ ผู้ป่วยจึงสามรถใช้ข้อเข่าได้ดีใกล้เคียงธรรมชาติ เช่น นั่งกับพื้น นั่งยองๆ คุกเข่า พับเพียบ รวมทั้งวิ่ง หรือออกกำลังกายได้
  • ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและเคลื่อนไหวได้อย่างปกติรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องทนกับอาการปวดเข่าเรื้อรัง
  • สามารถยืดอายุการใช้งานข้อเข่าเทียมให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น

 

การดูแลหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

   โดยทั่วไปผู้ป่วยพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1 - 3 และได้รับการดูแลตามแผนการฟื้นฟู ได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวจากทีมแพทย์ พยาบาล รวมถึงนักกายภาพบำบัดจะเข้ามาช่วยฝึกให้ผู้ป่วยออกกำลังขาและเข่า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง

ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ รพ. ทางทีมแพทย์ก็จะดูแล ดังนี้

  1. การระงับอาการปวดหลังจากการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการระงับการปวดหลังผ่าตัดที่ทางทีมแพทย์ผ่าตัดทำร่วมกันกับทางทีมวิสัญญีแพทย์ ก็จะสามารถควบคุมระดับอาการปวดของผู้ป่วย ได้ในระดับ 0 - 3 คะแนน (ระดับการปวดที่มากที่สุดก็คือ 10 คะแนน น้อยสุดก็คือ 0 คะแนน)
  2. การฝึกกายภาพบำบัด ในขณะที่ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ รพ. ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าหรือวอคเกอร์ได้ สามารถเดินได้ตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเองในการเข้าห้องน้ำ ลุกขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ ผู้ป่วยจะต้องสามารถเหยียดข้อเข่าได้สุดอยู่ที่ประมาณ 0 องศา และงอเข่าได้มากว่า 90 องศา ได้ ซึ่งหลังจากการผ่าตัดในช่วงแรกการทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์มักจะแนะนำผู้ป่วยให้ไปทำต่อที่บ้าน ภายใน 3 เดือน การฟื้นฟูกำลังของกล้ามเนื้อรอบเข่าจะเต็มที่ จะสามารถช่วยลดการหกล้มได้

 

สิ่งที่ควรปฎิบัติหลังการผ่าตัด คือ

  1. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลผ่าตัด ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ ไม่ควรแกะแผ่นปิดแผลออกเองจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  2. การลดอาการอักเสบ เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มีการตัดผิวกระดูก แพทย์มีการติดตามอาการอักเสบในข้อ ซึ่งการลดอาการอักเสบในช่วงแรก แนะนำให้ผู้ป่วยประคบเย็นในช่วง 2 สัปดาห์ – 1 เดือนแรก หลังจากนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยประคบอุ่นเพื่อให้เอ็นรอบๆ ข้อ รอบกล้ามเนื้อรอบๆ มีการคลายตัวได้มากขึ้น ระยะการเคลื่อนไหวก็จะดีมากขึ้น
  3. ผู้ป่วยสามารถขับรถได้หลังจาก 2 สัปดาห์ สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ทำสวน ได้หลังจาก 3 - 4 สัปดาห์
  4. ผู้ป่วยสามารถเล่นกีฬาอย่างกอล์ฟได้ในช่วง 6 - 8 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมีระยะฟื้นตัวที่ต่างกัน ผู้ป่วยที่อายุยังน้อยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงการเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ

   อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงหรือการชะลอในการเกิดภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นได้จากการควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลต่อข้อเข่า เช่น การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกต่อข้อเข่า การงอเหยียดข้อเข่าในมุมที่มาก ๆ ที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ แต่หากมีอาการปวดข้อเข่า ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินและวินิจฉัย เพื่อที่จะช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยหลังจากการเข้ารับรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พ.อ.รศ.นพ. องอาจ พฤทธิภาส แพทย์เฉพาะทางด้านข้อกระดูกสะโพกและข้อเข่าผ่าตัดผ่านหุ่นยนต์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.